โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รวบรวม พันธุ์พืชจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มาเพาะปลูกลงแปลงที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา....เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ในด้านต่างๆ
หนึ่งในความหลาก หลาย กลุ่มผู้วาดและพิมพ์ผ้าไหมด้วยสีธรรมชาติ ได้นำพืชในโครงการอนุรักษ์ฯนี้ มาใช้ประโยชน์ด้วยการทำเป็นสีพิมพ์ผ้าไหม ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก จากนั้นได้นำขึ้น ทูลเกล้าฯถวายให้พระองค์ ทรงทราบถึงความคืบหน้าวิทยาการแห่งศิลปศาสตร์ แขนงนี้
นายวีระ อาชีวปริสุทธิ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี เผยถึงแรงบันดาลใจที่เข้ามาร่วมในกิจกรรมโครงการนี้ว่า... ในอดีตสีที่นำมาใช้ในการตกแต่งเครื่องนุ่งห่มหรือ เสื้อผ้าส่วนใหญ่ ได้มาจากพืชและสัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น..เช่น นำแก่นขนุนมาย้อมจีวรพระให้เป็นสีเหลืองทอง และใช้ต้นครามหรือต้นฮ่อม หมักให้เกิดน้ำครามย้อมเป็นสีน้ำเงิน
...เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคเครื่องจักร ก็มีการพัฒนาใช้สีสังเคราะห์กับสิ่งทอมากขึ้น เนื่องจากรวดเร็วและปรับปรุงเฉดสีต่างๆ ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค...
...สีสังเคราะห์แม้จะมีข้อดีอยู่ หลายประการ แต่ก็มีข้อเสียโดยเฉพาะ ของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตได้สร้างมลพิษ หากมีการปล่อยสู่ ธรรมชาติโดยไม่ผ่านการบำบัดที่ถูกต้อง... ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
กลุ่มผู้วาดและพิมพ์ผ้าไหมด้วยสีธรรมชาติ จึงพลิกตำราค้นคว้าภูมิปัญญาโบราณ นำมาประยุกต์ และพัฒนาจนกระทั่งประสบความสำเร็จ นายไพรัช ศรีวิไลเวช หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญการวาดและพิมพ์ผ้าไหมด้วยสีธรรมชาติ จากเทคโนโลยีราชมงคลโชติเวช บอกต่อว่า...
.... การพิมพ์และการวาดลวดลายโดยใช้สีธรรมชาตินั้น หัวใจสำคัญเริ่มจากการนำวัตถุดิบที่จะนำมาใช ้ไปเข้าระบบความร้อนหรือระบบความเย็น ให้กลายเป็นวัตถุดิบที่พร้อมใช้ จากนั้นก็นำไปปั่นให้เป็นผงโดยการใช้ส่วนผสมและ เทคนิคพิเศษเสียก่อน
ทั้งนี้ ต้องวิเคราะห์หรือแยกวัตถุดิบนั้นๆว่า ได้มาจากพืชหรือสัตว์ เช่น เปลือกจากต้นสะเดา, ต้นคราม, กาแล หรือนำมาจากตัวครั่งที่เป็นแมลงชนิดหนึ่ง
ในอดีตที่ผ่านมาส่วนใหญ่สีจากธรรมชาตินำมาใช้ได้ด้วยวิธีการเดียวคือ การย้อม และเมื่อนำมาเข้าระบบการผลิตวัตถุ-ดิบที่เหมาะสม ก็สามารถนำมาเป็นสีวาดหรือพิมพ์ลงไปยึดติดกับผ้าไหมได้ดี... และต้องพัฒนาการผสมสีให้เกิดเป็นสีใหม่ๆ รวมไปถึงการสร้างเฉดสีที่ตรงตามความต้องการ
ไชยรัตน์ ส้มฉุน |